วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นิเทศภายในโรงเรียน :เชื่อมั่น ศรัทธา สามัคคี


นิเทศภายในโรงเรียน :เชื่อมั่น ศรัทธา สามัคคี
เรียบเรียงโดย… นางนันทา  ตุ้มทอง
งานหลักสูตรและการเรียนการสอน  กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี
บทนำ 
         การจัดการศึกษาหรือการจัดการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่มุ่งให้ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ โดยถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด ครูจะต้องมีศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสูงตามมาตรฐานหลักสูตรและ มาตรฐานการศึกษาชาติ และโรงเรียนมีศักยภาพในการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาเข้าสู่ระบบ การประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งบุคลากรทุกฝ่ายจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา 
        ภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ร่วมบริหาร ก็คือ การนิเทศ โดยเฉพาะการนิเทศภายในโรงเรียน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะช่วยแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่บกพร่องด้านวิชาการให้มีการพัฒนา และส่งเสริมให้การเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์ ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ร่วมบริหาร เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับคุณครูและนักเรียน จึงย่อมทราบถึงปัญหาต่างๆได้ดีกว่าบุคลากรภายนอก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การนิเทศภายใน โรงเรียนจะสนองตอบความต้องการของบุคลากรในโรงเรียนได้อย่างถูกต้อง 

        จุดมุ่งหมายของการนิเทศภายในโรงเรียน
สงัด อุทรานันท์(2530 : 12) กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการนิเทศภายในโรงเรียนไว้ 4 ประการ คือ 1) เพื่อพัฒนาคน 2) เพื่อพัฒนางาน 3) เพื่อสร้างการประสานสัมพันธ์ และ 4) เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และ ชัด บุญญา(2546:46) กล่าวว่า ความมุ่งหมายของการนิเทศ ภายในโรงเรียน เพื่อสนับสนุนส่งเสริม กระตุ้นให้ครูและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการจัดการศึกษาทุกฝ่ายเป็นราย บุคคลหรือหลายคนได้ร่วมมือร่วมใจกันปฏิรูปวิธีการจัดการเรียนการสอน วิธีการบริหารจัดการศึกษาที่มุ่งสู่ความสำเร็จตามมาตรฐานของโรงเรียน และของบุคลากรของโรงเรียนให้สูงขึ้นและรักษาไว้ได้อย่างต่อเนื่องด้วยความ เต็มใจ
         บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการนิเทศภายในโรงเรียน 
บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการนิเทศภายในโรงเรียน แบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ 
ผู้นิเทศ หมายถึง บุคลากรภายในโรงเรียน ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ช่วยผู้บริหาร
หัวหน้าระดับชั้น หัวหน้ากลุ่มสาระ ครูวิชาการ และครูผู้สอนที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ ที่ทางโรงเรียนมอบหมายให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือครูในการพัฒนา การจัดการเรียนการสอนให้ดีขึ้น
       ผู้รับการนิเทศ หมายถึง ครูภายในโรงเรียนที่ได้รับประโยชน์จากการนิเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทำให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มี ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน
ผู้สนับสนุนการนิเทศ หมายถึง ผู้ที่จะช่วยให้การดำเนินงานนิเทศภายในโรงเรียนบรรลุเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาภายในโรงเรียน

กระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน
การนิเทศภายในโรงเรียนเป็นการดำเนินการอย่างมีขั้นตอนเป็นระบบและต่อเนื่อง มี 4 ขั้นตอน คือ 
ขั้นที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาและความต้องการ
ขั้นที่ 2 การวางแผนการนิเทศ
ขั้นที่ 3 การปฏิบัติการนิเทศ
ขั้นที่ 4 การประเมินผลการนิเทศ 
การนิเทศภายในโรงเรียนนั้น การดำเนินการควรคำนึงถึงปัญหาของโรงเรียน รวมทั้งความต้องการของบุคลากรในโรงเรียนด้วย ดังนั้น การดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียนจึงต้องมีการวางแผนกำหนดแนวทางร่วมกัน ประสานสัมพันธ์ร่วมมือให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมี เป้าหมายเดียวกัน คือพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้

กิจกรรมการนิเทศ
กิจกรรมการนิเทศในที่นี้หมายถึงหัวข้อกิจกรรมที่จะนำไปเป็นแนวทางในการออกแบบวิธีการนิเทศตามวัตถุประสงค์ของการนิเทศ หรือพิจารณากำหนดรายละเอียดในการดำเนินการนิเทศในแต่ละครั้ง หรือแต่ละรายการให้เป็นไปตามหลักการและกระบวนการนิเทศ เช่น

เชิญวิทยากรมาให้ความรู้
จัดประชุมชี้แจงเรื่องใหม่ๆ
สาธิตการสอนโดยครูในโรงเรียนหรือจากโรงเรียนอื่นที่เชิญมา
การสัมมนาเสนอแผนการจัดการเรียนรู้ แผนงาน/โครงการ ประจำภาคเรียน/ประจำปีการศึกษาของแต่ละหน่วยงาน

การศึกษาดูงาน / นิทรรศการ
การจัดประกวดหรือนิทรรศการผลงานครู
ส่งครูไปฝึกปฏิบัติงาน
สังเกตการสอน / การเยี่ยมชั้นเรียน
การให้คำปรึกษาแนะนำ
การประชุมปฏิบัติการในเรื่องต่างๆร่วมกัน
การร่วมกันวิจัยในชั้นเรียน
 
      แนวทางการจัดการนิเทศภายในโรงเรียน
 แนวทางในการจัดการนิเทศภายในของโรงเรียนมี  4 วิธีการ คือ

      การนิเทศแบบคลินิค(Clinical Supervision) เป็นการนิเทศที่เน้นกระบวนการปรับปรุงการสอนของครูอย่างเข้มข้น ต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ มีการกระทำอย่างรอบคอบทุกขั้นตอน และทำให้ครบกระบวนการนิเทศ
     การนิเทศแบบเพื่อนร่วมพัฒนาวิชาชีพ(Cooperative Professional Development) เป็นทางเลือกหนึ่งของการนิเทศ สำหรับครูที่ไม่ประสงค์จะรับการนิเทศรูปแบบอื่น เป็นกระบวนการที่ครูตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาวิชาชีพ ด้วยการสังเกตการสอนในชั้นเรียน การให้ข้อมูลย้อนกลับ การอภิปรายแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับปรับปรุงวิชาชีพ
    การนิเทศแบบพัฒนาตนเอง(Self – Directed Development) เป็นกระบวนการนิเทศที่ครูทำงานโดยอิสระ เป็นผู้นำในการพัฒนาวิชาชีพของตนเอง ด้วยการวางแผนเพื่อพัฒนาวิชาชีพการสอนของตนและดำเนินตามโครงการที่วางไว้ ซึ่งประกอบด้วย เป้าหมาย วิธีการในการพัฒนาตนเอง แหล่งทรัพยากรที่ต้องการ วิธีการประเมินผลและความช่วยเหลือจากผู้บริหารที่ครูต้องการ
    การนิเทศแบบควบคุมเชิงบริหาร(Administrative Monitoring) เป็นการนิเทศที่ผู้บริหารเข้าเยี่ยมเยียนชั้นเรียนในระยะเวลาสั้นๆและอย่างไม่เป็นทางการเท่าใด แต่ต้องมีการวางแผนทั้งก่อนการเข้าเยี่ยม และการให้คำปรึกษาหลังเข้าเยี่ยมแล้ว
จะ เห็นว่าวิธีการนิเทศภายใน 4 วิธีการที่นำเสนอนั้นจะเป็นการนิเทศการเรียนการสอน แต่เราสามารถที่จะนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานในโรงเรียนของเราได้เพื่อให้ สอดคล้องกับระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในโรงเรียน สำหรับกระบวนการหรือขั้นตอนของแต่ละวิธีจะนำมาเสนอให้ผู้ที่สนใจได้รับทราบ ในโอกาสต่อไป

     เงื่อนไขของความสำเร็จ
การนิเทศภายในจะประสบความสำเร็จจะต้องอาศัยบริบทที่เอื้อต่อการนิเทศ เช่น 
การสอนด้วยสื่อและอุปกรณ์ต่าง ๆ  การจัดบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนการสอนและการปฏิบัติงาน
ความพร้อมของสื่อวัสดุอุปกรณ์การสอนและการปฏิบัติงาน
ขวัญและกำลังใจของบุคลากร
การทำงานเป็นทีม ความสามัคคี หรือความเป็นเอกภาพของบุคลากร
ความรู้ความเข้าใจและเจตคติในเรื่องการนิเทศของบุคลากรในโรงเรียน
ภาวะผู้นำทางวิชาการของฝ่ายบริหาร ฯลฯ

เนื้อหาสาระการนิเทศดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นหลักการและแนวปฏิบัติในการนิเทศที่
จะช่วยให้การนิเทศประสบความสำเร็จ แต่จะสำเร็จมากน้อยเพียงใดคงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจและเจตคติในเรื่อง การนิเทศและภาวะผู้นำทางวิชาการของฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ

เอกสารอ้างอิง
ชัด บุญญา. หลักการและแนวคิดในการนิเทศการศึกษายุคใหม่.2546
วไลรัตน์ บุญสวัสดิ์. หลักการนิเทศการศึกษา. กรุงเทพ : อาร์ตกราฟิค ,2538
วัชรา เล่าเรียนดี. เทคนิคการจัดการเรียนการสอนและการนิเทศ.โครงการส่งเสริมการผลิตตำรา และเอกสารการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัย
http://nitad.wordpress.com/2008/02/25/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99-%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2/

 
การอบรมปฏิบัติการนิเทศภายในผ่านสื่อออนไลน์
โรงเรียนสิงหพาหุ "ประสานมิตรอุปถัมภ์"